1. กระต่ายฟันหน้ายาวกว่าปกติ
เราสามารถสังเกตความผิดปกติของฟันกระต่ายได้ด้วยตัวเอง “เฉพาะฟันหน้าเท่านั้น” การสำรวจในช่องปากจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์พิเศษในการตรวจฟัน
ฟันหน้าสบปกติเปรียบเทียบกันกระต่ายฟันหน้าไม่สบกัน ทำให้ฟันหน้างอกยาวขึ้นเรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด
2. กินอาหารลดลง
กระต่ายที่เริ่มมีปัญหาฟันยาว ทั้งฟันหน้าและฟันกราม จะเริ่มมีปัญหาในการเคี้ยวอาหาร อาจพบว่าฟันที่ยาวกว่าปกติทำให้พื้นที่ในปากแคบลง หรือฟันหน้าที่ยาวทำให้เคี้ยวลำบากและฟันกรามที่งอกยาวเป็นมุมแหลมอาจทำให้ลิ้นและกระพุ้งแก้มเป็นแผล เป็นสาเหตุให้กระต่ายเจ็บปากจนไม่อยากกินอาหาร
กระต่ายที่มีปัญหาเรื่องฟันและแผลในปากอยากกินอาหารนุ่ม ๆ ที่เคี้ยวง่าย เช่น ผัก ผลไม้ หรืออาหารเม็ด ส่วนหญ้าแห้งที่แข็งกว่า กระต่ายเคี้ยวยากเพราะฟันที่ยาวเป็นอุปสรรคในการเคี้ยวอาหาร เราอาจสังเกตว่ากระต่ายเลือกกินอาหารมากขึ้นหรือขณะเคี้ยวมีอาหารหล่นออกมาจากปาก
3. กระต่ายน้ำลายไหล
กระต่ายน้ำลายไหล ส่วนใหญ่มักเกิดจากแผลที่ลิ้นและกระพุ้งแก้ม หรือการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณเหงือกและรากฟัน ซึ่งอาจพัฒนากลายเป็นฝีรากฟันได้
กระต่ายน้ำลายไหล มักมีปัญหาคางเปียก ผิวหนังรอบปากและคางอักเสบ ขนร่วง มีกลิ่นปากรุนแรง ซึ่งกรณีที่กระต่ายมีอาการขนร่วงและผิวหนังอักเสบบริเวณหน้า คางหรือรอบปาก อาจเป็นสาเหตุมาจากฟัน ไม่ใช่โรคผิวหนังเพียงอย่างเดียว
4. กระต่ายน้ำตาไหล
กระต่ายน้ำตาไหลเกี่ยวกับฟันยาวได้เช่นกัน เนื่องจากรากฟันกรามด้านบนของกระต่ายยื่นยาวกว่าปกติ (มองไม่เห็นจากภายนอกนะ ภาพ X-ray จะยืนยันได้ว่ารากฟันยาวหรือไม่) มีโอกาสเบียดท่อน้ำตาของกระต่าย ทำให้น้ำตาไม่สามารถระบายผ่านทางจมูกได้ จึงดูเหมือนกระต่ายน้ำตาไหลเกือบตลอดเวลา
5. กระต่ายเป็นฝีรากฟัน
กระต่ายที่เป็นฝีรากฟัน มักจะเริ่มจากฟันยาวข้างในปาก จนรากฟันเริ่มโค้งงอและยาวจนทะลุกระดูกกราม ทั้งด้านบนหรือด้านล่างและน้ำลายที่มีเชื้อแบคทีเรียก็จะไหลลงไปตามร่องเหงือกเกิดการติดเชื้อบริเวณกระดูกกรามที่ทะลุ จนเกิดเป็นก้อนฝีรากฟันในที่สุด เจ้าของอาจสังเกตเห็นว่า หน้าสองฝั่งของกระต่ายไม่เท่ากัน คลำหน้ากระต่ายจะพบก้อนนูนขึ้นมาได้
กระต่ายเป็นฝีรากฟัน ส่วนใหญ่มักเลือกกินแต่อาหารนุ่ม ๆ มาเป็นเวลานาน ถ้าหากสังเกตอาการจะพบว่า กระต่ายน้ำลายไหล มีกลิ่นปาก และกระต่ายผอมลงเนื่องจากไม่สามารถกินอาหารได้ตามปกติ
กระต่ายเป็นฝีรากฟันรักษาค่อนข้างยากและใช้เวลานาน เนื่องจากกระดูกกรามติดเชื้อจนถูกทำลาย ถ้าหากปล่อยเอาไว้ไม่ทำการรักษา กระต่ายอาจติดเชื้อรุนแรงและเสียชีวิตได้ บอกเลยว่าการรักษาฝีรากฟันกระต่ายค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและต้องอาศัยระยะเวลารักษาอย่างน้อย 1-3 เดือน
ควรดูแลอย่างไรเมื่อกระต่ายฟันยาว
กระต่ายฟันหน้ายาว
กระต่ายที่มีปัญหาฟันหน้าไม่สบกัน ฟันเบี้ยว และมีฟันหน้าที่งอกยาวจนไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ ควรได้รับการตัดเล็มฟันที่ยาวทุก 3-4 สัปดาห์
โดยการตัดฟันหน้ามี 2 วิธี ดังนี้
1. ใช้คีมตัดฟัน ต้องใช้ความชำนาญในการตัดฟัน เนื่องจากหากกระต่ายดิ้นหรือตัดฟันไม่ได้มุมที่พอดี อาจทำให้ฟันแตก ฟันหัก หรือรากฟันเบี้ยวได้
2. ใช้อุปกรณ์สำหรับตัดฟันกระต่ายโดยเฉพาะ (The diamond disc) เป็นอุปกรณ์มีความคม ตัดฟันได้เรียบ สามารถกำหนดมุมฟันที่พอเหมาะและไม่ทำให้ฟันหัก
“การตัดฟันกระต่ายควรปรึกษาสัตวแพทย์ การตัดฟันเองมีโอกาสที่ฟันจะหักหรือรากฟันเบี้ยวได้”